หลักสูตร

⭐⭐ แผ่นพับประชาสัมพันธ์หลักสูตร ดาวน์โหลด

ประวัติความเป็นมาของหลักสูตร ปริญญาตรี 

ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติระยะที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) คณะวิทยาศาสตร์มีโครงการที่จะผลิตบัณฑิตสาขาวิชาสถิติโดยภาควิชาคณิตศาสตร์ในขณะนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนพ.ศ. 2521 และแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมพ.ศ. 2522 ได้รับการอนุมัติหลักสูตรจากทบวงมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 25 มีนาคมพ.ศ. 2523 จึงเปิดรับนักศึกษาเข้าศึกษาเป็นรุ่นแรกในปีการศึกษา 2523 และสำเร็จการศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2526 ซึ่งมีการปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง รวม 5 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2530 พ.ศ.2536 พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2554 และ ปี พ.ศ. 2560

ในปี พ.ศ.2539 ประเทศไทยมีการรณรงค์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ตระหนักถึงการบริหารองค์กรอย่างมีคุณภาพ โดยเริ่มจากการให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) และในปี พ.ศ. 2549 ภาครัฐได้นำแนวทางการบริหารดังกล่าวมาปรับใช้ โดยเรียกว่าการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award: PMQA)ซึ่งเกณฑ์การบริหารดังกล่าว เป็นการบริหารโดยใช้ข้อมูลและสารสนเทศเป็นสำคัญหรือเป็นการจัดการโดยใช้ข้อมูลจริง (Management by fact) นั่นเอง ทำให้ระบบข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นประเด็นสำคัญของทุกองค์กร ดังนั้น ในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศสถิติขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ 3 ศาสตร์ ได้แก่ สถิติศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และหลักการบริหารจัดการ เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการข้อมูล ตั้งแต่ระดับข้อมูลดิบ สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบภายใต้หลักวิชาการทางสถิติ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม สามารถผลิตสารสนเทศที่มีคุณภาพสนับสนุนการบริหารจัดการองค์กรทั้งระดับปฏิบัติการและระดับสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับบริบทขององค์กร โดยรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2551 ซึ่งมีการปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่องรวม 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2555 และ ปี พ.ศ. 2560

ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรจะครบกำหนดปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2565 แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดกระแสเรื่องการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีความพยายามนำวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) เข้ามาใช้ในหลาย ๆ องค์กร ทุกหน่วยงานองค์กรเห็นความสำคัญของการจัดการข้อมูลมากขึ้น อีกทั้งจำนวนอาจารย์ในสาขาวิชาสถิติจะมีจำนวนลดลงจากการที่มีผู้เกษียณในปี 2564 มากถึง 3 คน ทำให้อาจส่งผลต่อคุณภาพของหลักสูตรได้ ดังนั้น ในปีการศึกษา 2562 จึงได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรจากเดิม 2 หลักสูตรเป็น 1 หลักสูตรภายใต้ชื่อ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูล ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิชาเอก คือ (1) วิชาเอกสถิติศาสตร์ และ (2) วิชาเอกสารสนเทศสถิติและวิทยาการข้อมูล เพื่อสร้างนักสถิติศาสตร์และนักสารสนเทศสถิติด้านวิทยาการข้อมูล ที่มีความเป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ เข้าใจการจัดการและสร้างสารสนเทศอย่างมีคุณภาพ โดยยึดมั่นในความดี คุณธรรม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถช่วยชี้นำและขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานความรู้ด้านข้อมูลและสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูล (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2563) มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อบูรณาการความรู้ทางด้านสถิติและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเหมาะสม สามารถนำเสนอสารสนเทศที่มีคุณภาพ ภายใต้จรรยาบรรณตามหลักวิชาการ/วิชาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนด้วยข้อมูลและสถิติศาสตร์

ประวัติความเป็นมาของหลักสูตร ปริญญาโท

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถิติประยุกต์ ได้เริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2539 และจากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีปณิธานที่จะเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้กำหนดนโยบายในการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2550-2554) ด้านการผลิตบัณฑิตโดยเป็นสถาบันที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ บัณฑิตดำรงตนในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ที่ระบุว่าต้องมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและแสวงหาประโยชน์อย่างรู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ที่ 3 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรให้สูงขึ้น เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศได้

จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและการศึกษาที่สูงขึ้นอีกทั้งในปัจจุบันนี้ มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร มีการใช้ข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง วิชาสถิติมีบทบาทอย่างมากในการจัดการข้อมูลเพื่อให้ได้สารสนเทศและความรู้ใหม่เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ หรือใช้เป็นแนวทางกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ การมีทรัพยากรบุคคลทางทางด้านนี้มากขึ้นก็จะเป็นการช่วยพัฒนาประเทศและแข่งขันกับนานาประเทศได้หลักสูตรจึงจำเป็นต้องผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถสนองตอบความต้องการของสังคมยุคปัจจุบันและได้มหาบัณฑิตที่มีคุณลักษณะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนั้น สาขาวิชาสถิติจึงได้ปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถิติประยุกต์ที่เปิดสอนในปัจจุบันให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงข้างต้น

ซึ่งหลักสูตรปรับปรุงปี พ.ศ. 2554 สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น อนุมัติหลักสูตรในการประชุมครั้งที่ 4/2554 วันที่ 1 มิถุนายน 2554 และเริ่มเปิดสอนภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษาที่ 2554 และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ที่ระบุว่าประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา หลักสูตรได้ถูกปรับปรุงอีกครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2559 โดยหลักสูตรปรับปรุงล่าสุดปี พ.ศ. 2559 ได้ผ่านการอนุมัติหลักสูตรโดยสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 5 ตุลาคม 2559 การประชุมครั้งที่ 10/2559 ทั้งนี้หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559 ได้นำมาใช้กับนักศึกษารหัส 60 เป็นต้นไป

ทำไมต้องเรียนสถิติ นักสถิติและสารสนเทศสถิติ ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ข้อมูลสำรวจการได้งานทำของบัณฑิต ณ วันที่มารับปริญญา >> Click

  • ปัจจุบันข้อมูลนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกองค์กร การบริหารองค์กรที่ดีและไม่เสี่ยงจะต้องบริหารอยู่ภายใต้ข้อเท็จจริง (FACT) หรือมักจะใช้คำว่า DATA Driving Organization ในทุก ๆ แผนกขององค์กร
  • การทำให้ข้อมูลไปอยู่ในรูปของสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารองค์กรนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็นต้องใช้ศาสตร์ทางด้านสถิติหรือสารสนเทศสถิติเข้ามาประกอบการวิเคราะห์และสังเคราะห์ หรือเป็นศาสตร์ด้าน DATA Science นั่นเอง
  • ดังนั้น การมีข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่จัดการข้อมูลไม่เป็น และไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้อง เหมาะสม ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กร
  • หากถามว่านักสถิติหรือนักสารสนเทศสถิตินั้นอยู่ส่วนใดขององค์กร คงต้องบอกว่านักสถิติมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกแผนก เพราะทุกแผนกมีข้อมูลที่จำเป็นต้องนำไปจัดการ และวิเคราะห์ให้ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคลากร  ฝ่ายการขายและการตลาด ฝ่ายการผลิต  ฝ่ายสต๊อกสินค้า ฝ่ายการจัดส่ง ฝ่ายการเงินและการบัญชี 
  • ดังนั้น จะเห็นว่าบัณฑิตที่จบทางสถิติหรือสารสนเทศสถิตินั้น จะทำงานอยู่ในหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน  เช่น ฝ่ายเวชระเบียนของโรงพยาบาลต่างๆ  องค์กรเกี่ยวกับการสื่อสาร องค์กรด้านการเงิน  องค์กรด้านธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของลูกค้าสัมพันธ์ และการจัดการสต๊อกสินค้า และการวางแผนจัดส่งสินค้า องค์กรด้านการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ แม้แต่องค์กรที่เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ เป็นต้น Click

สรุปหลักสูตรที่ใช้ในปีการศึกษา 2565

💦 หลักสูตรบัณฑิตศึกษา : ปรับปี 2564

💦 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูล : ปรับปี 2563 — สำหรับนักศึกษารหัส 63 ขึ้นไป

💦 หลักสูตรสถิติ : ปรับปี 2560 — สำหรับนักศึกษารหัสต่ำกว่า 63

💦 หลักสูตรสารสนเทศสถิติ : ปรับปี 2560 — สำหรับนักศึกษารหัสต่ำกว่า 63